11 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) หารือแนวทางขับเคลื่อนระบบเครดิตทางสังคมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุม 501 ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เริ่มต้นด้วยการนิยามเรื่องคุณธรรมที่ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของศูนย์คุณธรรมว่า หมายถึงพฤติกรรมที่ดี ที่ประพฤติปฏิบัติจนเป็นนิสัย แม้เจอสิ่งยั่วยวนและท้าทาย การดำเนินงานของศูนย์ฯ คือ การทำให้เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องที่นับได้ จับต้องได้ ซึ่งระบบเครดิตทางสังคม (Social credit) เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานที่กำลังพัฒนาในแนวทางนี้

 

เป้าหมายการพัฒนาระบบเครดิตทางสังคม คือ การพัฒนากลไกให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เน้นการกระตุ้นและการสร้างแรงจูงใจในการแสดงพฤติกรรมในเชิงบวกที่เป็นภาคสมัครใจ และที่สำคัญ คือ เป็นการ “ทำให้คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม” โดยเครดิตทางสังคม แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับบุคคลเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 2. ระดับองค์กร (Organization based) เชื่อมโยงกับงานอีก 2 เรื่องที่ทางศูนย์ฯ พัฒนาขึ้น คือ มาตรฐานด้านคุณธรรมสำหรับองค์กร และกระบวนการรับรององค์กรคุณธรรมด้วย BOMC model 3. ระดับชุมชน (Community based) เชื่อมโยงกับผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน โดยพัฒนาต่อยอดจากธนาคารความดี

 

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสนอว่างานของ สสส. มีความเชื่อมโยงกับประเด็นเครดิตทางสังคมในหลายงาน เช่น สุขภาวะองค์กร สุขภาวะชุมชน สุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สุขภาวะทางปัญญา และเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงเรื่อง “คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม” โดยการดำเนินการหลังจากนี้เสนอให้นำข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่ทาง สสส. เก็บรวบรวมไว้ และกรณีศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ (Best practice) ในส่วนของธนาคารเวลา ธนาคารจิตอาสา ไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบเครดิตทางสังคมต่อไป

 

นางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการ กอง 3 รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวถึงการขับเคลื่อนเครดิตทางสังคมว่า ทางสำนักงาน ป.ยป. เสนอแนวคิด D-CATALOG ซึ่งเป็นการรวบรวมกิจกรรมความดีต่างๆ ที่หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจเข้าไปช่วยสนับสนุนได้ เช่น ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการเรื่อง CSR

 

การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเครดิตสังคมในประเทศไทยร่วมกันระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งการดำเนินการต่อจากนี้จะเป็นการเตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนระบบเครดิตทางสังคมต่อไป

 


ข่าวโดย กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย
ภาพโดย สำนักงาน ป.ย.ป.
 

???? Facebook : ศูนย์คุณธรรม https://www.facebook.com/MoralCenter
???? YouTube : Moral Channel https://youtube.com/user/moralcenter