วันที่ 21 เมษายน 2564 เวลา 08.30 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดประชุมทางไกลผ่านระบบ แอพพลิเคชั่น Zoom ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และแกนนำ 13 เครือข่ายคุณธรรมเชียงราย

 

โดยมีนายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม นางสาวปรียาภรณ์ พูลศรี ผู้จัดการสำนักพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรมและสื่อสารสนเทศ นายประมวล บุญมา หัวหน้ากลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ นางสาวพัณณ์ชิตา พุ่มทอง หัวหน้ากลุ่มงานศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 16 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เพื่อหารือขับเคลื่อนจังหวัดส่งเสริมคุณธรรมเชียงราย ปีที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีแผนจัดทำฐานข้อมูลองค์กรเครือข่าย 213 หน่วยที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเชียงรายให้เป็นจังหวัดคุณธรรม ถอดบทเรียนชุมชน องค์กรและอำเภอคุณธรรม 50 กรณีต้นแบบ และประเมินผลการขับเคลื่อนจังหวัดส่งเสริมคุณธรรม ปีที่ 2 โดยจะเริ่มเคลื่อนงานวิชาการดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2564


       ในด้านของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ดำเนินโครงการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือ และโครงการวิจัยชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง โดยการสนับสนุนจากศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด-19 มีความจำเป็นต้องปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยจะเร่งประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายคุณธรรมและกลุ่มเป้าหมาย เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านวิชาการดังกล่าว และนำมาเสนอในงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรมเชียงรายต่อไป และที่ประชุมได้หารือการเสริมหนุนกลไก 13 เครือข่ายทางสังคมจังหวัดเชียงราย ให้สามารถขับเคลื่อนตามประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเชียงรายเป็นจังหวัดคุณธรรม ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกส่วนรวมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมแก้ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงในเด็กและเยาวชน และสร้างจิตสำนึกด้านวินัยจราจร โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายยินดีร่วมเป็นองค์กรประสานความร่วมมือหนุนเสริมกลไกในระดับพื้นที่


       นอกจากนี้เครือข่ายคุณธรรม ยังได้ระดมความเห็นเพื่อเตรียมงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรมจังหวัดเชียงราย ปีที่ 2 ที่ประชุมเห็นควรให้จัดงานในพื้นที่จริงและจัดในรูปแบบออนไลน์ผสมผสานกัน เพื่อให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการเชื่อมโยงและสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายคุณธรรมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ต้องการการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในเวทีจริง โดยปรับรูปแบบให้เป็น new normal ตามมาตรการของจังหวัด พร้อมทั้งได้เสนอทางเลือกให้จัดสมัชชาคุณธรรมจากสี่มุมเมือง โดยกระจายการจัดกิจกรรม ที่มุ่งเน้นการรวมกลุ่มตามเครือข่ายของตน ประมาณ 50-100 คน และผสมผสานกับระบบออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละเครือข่ายออกแบบงานของตนเอง แล้วนำผลงานมาเสนอในสมัชชาคุณธรรมจังหวัด และเครือข่ายคุณธรรมจะร่วมกันผลักดันแนวคิดเมืองคุณธรรม (Moral City) “เชียงรายเมืองคุณธรรม ร่วมสร้างจิตสำนึกดี สิ่งแวดล้อมดี มีวินัย ใส่ใจส่วนรวม” ให้เป็นรูปธรรม พร้อมกับรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ กระตุ้นเตือนให้เกิดการรับรู้ร่วมกันทั้งจังหวัด พร้อมเสนอให้เป็นวาระของจังหวัดต่อไป


ข่าวโดย จีระวรรณ์ บรรเทาทุกข์ กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ
ภาพ ประมวล บุญมา กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย